นิทานเซ็น แบกหนามขอขมา
นิทานเซ็น แบกหนามขอขมา
ฟู่จิงฉิ่งจุ้ย 负荆请罪 : แบกหนามขอขมา
ในสมัยสงครามระหว่างรัฐ
(จั้นกั๋ว) ซึ่งบ้านเมืองแบ่งออกเป็นรัฐต่าง ๆ 7 รัฐ ประกอบด้วย รัฐฉี รัฐฉู่ รัฐเอียน รัฐหาน
รัฐเจ้า รัฐเว่ย และรัฐฉิน โดยในบรรดา 7 รัฐนี้ นับว่ารัฐฉินกล้าแข็งที่สุด
ทำให้รัฐฉินมักจะข่มเหงรัฐเจ้าอยู่เสมอ ครั้งหนึ่ง อ๋องรัฐเจ้าส่งขุนนางชั้นสูงในปกครองผู้หนึ่ง
นามว่า ลิ่นเซียงหยู ไปยังรัฐฉินเพื่อเจรจาต่อรอง
เมื่อลิ่นเซียงหยูได้เข้าเฝ้าอ๋องรัฐฉิน ก็ได้อาศัยสติปัญญาและความกล้าหาญเป็นหน้าเป็นตาให้กับอ๋องรัฐเจ้าได้มากโข
เมื่ออ๋องรัฐฉินเห็นว่ารัฐเจ้ามีคนเก่งกล้าเช่นนี้ในปกครอง จึงไม่กล้าดูแคลนรัฐเจ้าอีกต่อไป
อ๋องรัฐเจ้าเห็นว่าลิ่นเซียงหยูทำความดีความชอบครั้งใหญ่
จึงได้เลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้ว่าการรัฐ และภายหลังได้เป็นเสนาบดีในที่สุด (เทียบเท่าตำแหน่งอัครเสนาบดีในยุคหลัง)
การที่อ๋องรัฐเจ้าให้ความสำคัญกับลิ่นเซียงหยูถึงเพียงนี้
กลับเป็นการสุมเพลิงพิโรธให้กับแม่ทัพรัฐเจ้า นามว่าเหลียนโพว ซึ่งเขาเฝ้าคิดว่า “ข้านั้นเสี่ยงชีวิตในสงครามเพื่อรัฐเจ้าถึงเพียงนี้
ความดีความชอบเทียบไม่ได้กับลิ่นเซียงหยูเชียวหรือ? ลิ่นเซียงหยูอาศัยเพียงลมปาก
ไร้ความสามารถอื่นใด กับดำรงตำแหน่งสูงกว่าข้า หากข้าพบหน้าลิ่นเซียงหยูที่ไหน
จะทำให้มันได้อับอายขายหน้าที่นั่น ดูซิว่ามันจะทำอันใดข้าได้! ”
ความของเหลียนโพวครั้งนี้
ได้ล่วงรู้ถึงหูลิ่นเซียงหยู เขาจึงรีบกำชับคนในบังคับบัญชาทุกคนว่าหากคราใดบังเอิญได้พบกับลูกน้องของ
เหลียนโพว ก็ขอให้ยอมลงให้คนเหล่านั้นเสีย อย่าให้มีเรื่องมีราวต่อกัน จากนั้นนาน
ตัวเขาเองได้นั่งเกี้ยวออกจากบ้านหากได้ยินว่า เหลียนโพวอยู่ในบริเวณนั้น
ก็จะรีบสั่งให้แบกเกี้ยวหลบไปก่อน รอจนเหลียนโพวจากไปค่อยเดินทางต่อ
ฝ่ายผู้ใต้บังคับบัญชาของเหลียนโพว
เมื่อเห็นศัตรูของเจ้านายยอมหลีกทางให้เจ้านายตนถึงเพียงนี้ ก็ได้นึกลำพองใจอย่างยิ่ง
เมื่อได้พบหน้ากับลูกน้องของลิ่นเซียงหยูคราใด ก็จะพากันหัวเราะเยาะเย้ย
ทำให้ลูกน้องของลิ่นเซียงหยูหมดความอดทน ถึงได้เอ่ยถามผู้เป็นนายว่า “ตำแหน่งของท่านนั้นนับว่าสูงกว่าแม่ทัพเหลียน
เขาด่าว่าท่าน เหตุใดท่านจึงเอาแต่หลบหลีก ยอมลงให้เขา ยิ่งทำให้เขาดูถูก หากเป็นเช่นนี้ต่อไป
พวกข้าน้อยก็คงทนไม่ได้เช่นกัน”
ลิ่นเซียงหยูเอ่ยชี้แจงด้วยอาการสงบว่า
“เทียบกันแล้ว
แม่ทัพเหลียนกับอ๋องรัฐฉิน ผู้ใดน่าเกรงกลัวกว่ากัน?” ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
“ย่อมเป็นอ๋องรัฐฉิน” ลิ่นเซียงหยูจึงกล่าวสืบไปว่า
“เช่นนั้นก็ถูกแล้ว แม้แต่อ๋องรัฐฉิน ข้ายังไม่กลัว
เหตุใดข้าต้องกลัวแม่ทัพเหลียน แต่เจ้าต้องเข้าใจว่า ในเวลานี้
ที่อ๋องรัฐฉินยอมรามือไม่เข้าโจมตีรัฐเจ้า ก็เพราะเกรงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของขุนนางทั้งฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋นภายใน
รัฐเรา ข้าและแม่ทัพเหลียนเปรียบไปก็เหมือนเสือ 2 ตัว
หากกัดกัน ไม่แคล้วตัวใดตัวหนึ่งต้องเจ็บหนักหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต กลายเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐฉินเปิดฉากโจมตีได้
พวกเจ้าลองคิดดู ว่าเรื่องของประเทศชาติหรือเรื่องส่วนตัวสำคัญกว่ากัน”
เมื่อเหล่าลูกน้องได้ฟังคำชี้แจงก็รู้สึกตื้นตันใจเป็นอันมาก
จากนั้นคราใดบังเอิญได้พบกับกลุ่มของแม่ทัพเหลียนโพว ก็จะพยายามหลบลี้หลีกทางให้ตลอดมา
ความของลิ่นเซียงหยู
สุดท้ายก็ไปเข้าหูของแม่ทัพเหลียนโพวเช่นกัน ทำให้แม่ทัพเหลียนเกิดความละอายใจยิ่งนัก
ถึงขั้นถอดเสื้อออกทั้งยังแบกกิ่งไม้ที่เต็มไปด้วยหนาม เดินทางไปบ้านของลิ่นเซียงหยู
เมื่อพบหน้าเขาจึงคุกเข่าลง ที่หลังยังคงแบกกิ่งหนาม
และร้องขอให้ลิ่นเซียงหยูโบยตี แต่ลิ่นเซียงหยูกลับดึงกิ่งไม้เหล่านั้นทิ้งไปสิ้น ประคองแม่ทัพเหลียนลุกขึ้นพร้อมทั้งหาเสื้อผ้าให้สวมใส่เป็นอย่างดี
ภายหลังทั้งสองกลายเป็นสหายร่วมรบ ผู้หนึ่งบู๊ ผู้หนึ่งบุ๋น ร่วมแรงกันปกป้องบ้านเมือง
ต่อมา “ฟู่จิงฉิ่งจุ้ย” หรือ “แบกหนามขอขมา” กลายมาเป็นสำนวน
แปลว่า ยอมรับความผิดของตนเองโดยไร้ข้อโต้แย้ง และกล่าวขอโทษด้วยความจริงใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น