นิทานเซ็น
ข้ามเครื่องเซ่นไหว้ไปเป็นพ่อครัว
เยี่ยว์จู่ไต้ผาว 《越俎代庖》: ข้ามเครื่องเซ่นไหว้ไปเป็นพ่อครัว
ในยุคโบราณ
ก่อนการถือกำเนิดของราชวงศ์ต่าง ๆ ในประเทศจีน มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า
ชายผู้ทรงคุณธรรมจริยธรรมผู้หนึ่ง เร้นกายทำไร่ไถนาอยู่ ณ ริมแม่น้ำอี๋สุ่ย
เชิงเขาจีซาน เขามีนามว่า “สี่ว์โหยว” ยามใดที่หิวก็ปีนเขาขึ้นไปปลิดผลไม้รับประทาน ยามใดที่กระหายน้ำก็อาศัยสองมือวักน้ำในแม่น้ำอี๋สุ่ยมาดับกระหาย
แม้ว่ามีผู้ตักเตือนเขาว่า “ชีวิตคนเราสั้นนัก ใยต้องเร้นกายอยู่อย่างไร้นาม
ผ่านชีวิตลำบากยากแค้นถึงเพียงนี้เล่า?” สี่ว์โหยวกลับยิ้มพลางตอบว่า
“เช่นนี้จึงสามารถมีชีวิตที่แสนอิสรเสรี ไม่ถือเป็นความยากลำบากอันใด”
ครั้งหนึ่ง มีคนนึกห่วงใยสี่ว์โหยว ส่งกระบวยตักน้ำมาเพื่อให้เขาดื่มน้ำสะดวกขึ้น
สี่ว์โหยวเอากระบวยนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แต่ยิ่งนานวัน ยามที่ลมโชย กระบวยโดนลมพัดเกิดเสียงดังน่ารำคาญยิ่ง
สุดท้ายสี่ว์โหยวจึงโยนกระบวยทิ้งไป
ในยุคเดียวกันนั้น
ยังมีมหากษัตริย์นามว่า “ถังเหยา” หรือตี้เหยา กษัตริย์ในตำนานของจีนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ผู้ธำรงคุณธรรม
พระองค์ได้ทราบเรื่องราวของสี่ว์โหยว ทรงดำริให้เขาสืบทอดราชบังลังก์ จึงได้เรียกเขามาพบ
และตรัสว่า “ยามที่สุริยันและจันทราลอยเด่นบนท้องนภา มีคนพยายามจุดฟืนไฟประชันแสง
นั่นใช่ยากเย็นหรือไม่? ยามที่หยาดพิรุณโปรยจากฟากฟ้า
มีผู้ต้องการให้น้ำรดลงเฉพาะผืนแผ่นดินของตน ครอบครองความชุ่มชื้นที่ประทานมาเพื่อสรรพสัตว์
มิใช่สิ้นเปลืองแรงงานยิ่งหรือ? บัดนี้ปรากฏท่านผู้กอปรด้วยคุณธรรมจริยธรรมขึ้นมาในแผ่นดินผู้หนึ่ง
หากเรารั้งตำแหน่งกษัตริย์ไว้กับตัวเอง ย่อมน่าเสียดายยิ่งนัก”
ยามนั้นสี่ว์โหยวกลับปฏิเสธอำนาจเหนือแผ่นดิน
กล่าวว่า “นกบนยอดไม้ใหญ่ยึดเกาะได้เพียงกิ่งไม้ใต้ฝ่าเท้า
มุสิกดื่มน้ำในลำธารเพียงดื่มได้แค่เต็มกระเพาะ เช่นเดียวกับข้าน้อย จะต้องการอำนาจเหนือแผ่นดินไปเพื่ออะไร…แม้แต่พ่อครัว หากไม่ปรุงอาหารตามหน้าที่ ผู้ควบคุมงานพิธีบูชาบรรพบุรุษ ยังมิอาจละทิ้งของเซ่นไหว้
ก้าวข้ามภาชนะใส่เครื่องบวงสรวงบรรพบุรุษเพื่อไปทำหน้าที่พ่อครัวแทน” เมื่อกล่าวจบ สี่ว์โหยวจึงได้อำลาถังเหยา เดินทางจากไป
สำนวน “เยี่ยว์จู่ไต้ผาว” หรือ “ข้ามเครื่องเซ่นไหว้ไปเป็นพ่อครัว”
เปรียบเปรยถึงการข้ามหน้าข้ามตา หรือล้ำเส้นไปทำงานของผู้อื่นที่อยู่นอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบของตน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น