นิทานเซ็น นกอินทรีบินข้ามพ้นความตาย
นิทานเซ็น
นกอินทรีบินข้ามพ้นความตาย
ยังมีสมณะรูปหนึ่งนามว่า
“เต้าซิ่ว”
เป็นผู้มีความมุมานะในการบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง ทว่าทำอย่างไรก็ยังมิอาจบรรลุธรรม
มองไปรอบข้างนักบวชรูปอื่น ๆ ที่เพิ่งศึกษาธรรมทีหลังตน มีไม่น้อยสามารถเข้าถึงแก่นแท้แห่งเซ็นแล้ว
สมณะเต้าซิ่วเห็นดังนั้น จึงเข้าใจว่าตนเองคงไม่มีคุณสมบัติในการศึกษาเซน ขาดปฏิภาณไหวพริบ
สุดท้ายตัดสินใจออกธุดงค์เพื่อหวังว่าจะมีความสำเร็จ
ก่อนเดินทางสมณะเต้าซิ่ว
ได้เข้ามากราบลาอาจารย์เซ็นก่วงอวี่โดยกล่าวกับอาจารย์ว่า “ท่านอาจารย์ ศิษย์ทำให้ความเมตตากรุณาของท่านต้องสูญเปล่า
นับตั้งแต่ศิษย์ออกบวชอยู่ที่วัดนี้มานานนับ 10 ปียังคงไม่อาจเข้าถึงเซนได้แม้เพียงกระผีก
ดูไปศิษย์คงไร้วาสนา จึงได้แต่ออกไปธุดงค์เพื่อหาทางเข้าถึงธรรมด้วยวิธีอื่น”
อาจารย์เซ็นก่วงอวี่จึงตอบศิษย์ว่า
“ในเมื่อเจ้ายังไม่บรรลุธรรม
เหตุใดจึงออกเดินทางจากที่นี่ไป หรือว่าเจ้าจะรู้แจ้งเห็นจริงได้ในสถานที่อื่น?”
เต้าซิ่วจึงอธิบายความในใจต่ออาจารย์เซ็นว่า
“ศิษย์อยู่ที่นี่
ทุก ๆ วันนอกจากรับประทานอาหารและนอนหลับแล้ว ล้วนใช้เวลาทั้งหมดไปกับการบำเพ็ญเพียร
ศิษย์ทุ่มเททว่าไร้วาสนา ขณะที่สมณะรูปอื่นแม้ไม่พากเพียรเท่าแต่กลับพบความก้าวหน้ามากกว่า
เห็นทีศิษย์คงต้องออกธุดงค์พบความลำบากเผื่อว่าจะสามารถบรรลุธรรม”
อาจารย์เซ็นก่วงอวี่ได้ฟังจึงกล่าวว่า “รู้แจ้ง…คือสิ่งที่ออกมาจากภายในตนเอง
ไม่ใช่สิ่งที่สามารถอธิบายความได้ ทั้งยังไม่อาจส่งต่อให้ผู้อื่น
หากยังไม่รู้ก็มิอาจเร่งให้รู้ ผู้อื่นก็คือผู้อื่น เจ้าก็คือเจ้า เจ้าต้องศึกษาเซ็นไปตามวิถีของตนเอง
มิสามารถนำสองเรื่องนี้มาปนกันได้”
“ท่านอาจารย์
ท่านยังไม่เข้าใจ เมื่อเทียบการเรียนรู้ของตัวศิษย์กันผู้อื่น ก็ไม่ต่างกับนำพญาอินทรีมาเทียบกับนกกระจอกอย่างไรอย่างนั้น”
สมณะเต้าซิ่วยังคงดึงดัน
“ใหญ่อย่างไร
เล็กอย่างไร” อาจารย์เซ็นถาม
สมณะเต้าซิ่วตอบว่า “พญาอินทรีเพียงกางปีกก็บินไปได้ไกลหลายร้อยลี้
ทว่าศิษย์ได้แต่บินต่ำเตี้ยเรี่ยดินไปได้ไม่กี่จั้ง*เท่านั้น” (*จั้ง คือหน่วยวัดของจีน เท่ากับความยาวประมาณ 2.27 – 2.31 เมตร)
ยามนี้ อาจารย์เซ็นก่วงอวี่จึงกล่าวถามอย่างจริงจังว่า “นกอินทรีเพียงกางปีกก็บินไปได้ไกลหลายร้อยลี้
แต่มันสามารถบินข้ามพ้นความตายไปได้หรือไม่?”
ปัญญาเซ็น : ไม่ว่าอินทรีหรือนกกระจอกล้วนมิอาจข้ามพ้นความตายต่างเพียงเร็วหรือช้า
การศึกษาธรรมก็เช่นกัน ผู้ใดปฏิบัติผู้นั้นย่อมได้รับผล ย่อมถึงการรู้แจ้งได้ไม่ช้าก็เร็ว
ที่มา : หนังสือ 《禅的故事精华版》, 慕云居
เรียบเรียง, สำนักพิมพ์ 地震出版社, 2006.12, ISBN
7-5028-2995-4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น